มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนลูกหนี้ ดูสัญญาก่อนปรับโครงสร้างหนี้ หากสัญญายกเลิกต้องกลับไปใช้สัญญาเดิมที่นับอายุความใหม่
ที่มา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.).
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนลูกหนี้ ดูสัญญาก่อนปรับโครงสร้างหนี้ พบปัญหาเงินต้นไม่ลด ระยะเวลาเพิ่ม
ผิดนัดจะทำให้สัญญาถูกยกเลิก และกลับไปใช้สัญญาเดิม แนะควรปฏิเสธหากชำระตามสัญญาไม่ไหว หัวหน้าศูนย์ทนายความฯ
ชี้การรับสภาพหนี้ในสัญญา ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และจะเริ่มนับใหม่อายุความตั้งแต่ทำสัญญาฉบับใหม่
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า ลูกหนี้มีปัญหาจากการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์หรือไฟแนนซ์ต่างๆ
มักจะยื่นข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ไม่ไหว แต่เมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้วภายหลังเกิดปัญหา
เช่น ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่เงินต้นไม่ลด
ลูกหนี้จึงต้องรู้ก่อนว่าเงื่อนไขของการปรับโครงสร้างหนี้มีอะไรบ้าง ต้องระวังเรื่องอะไร
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระ เจ้าหนี้มักจะเสนอให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาหนี้เงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับล่าช้า ค่าธรรมเนียมต่างๆ
ที่ค้างชำระมาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และให้ผ่อนขั้นต่ำ โดยระยะเวลาการชำระหนี้จะเพิ่มขึ้น 3-5 ปี
และดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจะเป็นอัตราใหม่ อีกทั้งเงื่อนไขในสัญญายังระบุว่า ต้องชำระทุกงวด ผิดนัดแม้แต่งวดเดียวไม่ได้ ถ้าผิดนัดไป 1 งวด
เงินที่ส่งไปแล้วจะกลายเป็นดอกเบี้ย หนี้ที่ต้องชำระจะเหลือเท่ากับตอนที่ยังไม่ได้ปรับโครงสร้างหนี้
นอกจากนี้บางสัญญาใช้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได คือปีแรก 1,000 บาท ปีที่ 2 ขึ้นเป็น 2,000 บาท ปีที่ 3 ขึ้นเป็น 3,000 บาท
อาจจะทำให้ในอนาคตชำระไม่ไหว
ฉะนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำว่า การปรับโครงสร้างหนี้ใดๆ ลูกหนี้ควรดูรายละเอียดสัญญาก่อน ควรต้องรู้ว่าเมื่อผิดนัดชำระหนี้แล้ว
สัญญาจะถูกยกเลิกและกลับไปใช้สัญญาฉบับเดิมแล้วนับอายุความใหม่
ซึ่งลูกหนี้มีเวลาในการตัดสินใจ และสามารถปฏิเสธได้ รวมทั้งลูกหนี้จะต้องรู้จำนวนการชำระหนี้ที่สามารถทำได้
และส่งได้ครบทุกงวดตามสัญญาหรือไม่
หากในอนาคตอาจจะส่งไม่ครบก็ไม่ควรที่จะปรับ เพราะเมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้วเงินที่ชำระจะไปตัดที่ดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น
กลายเป็นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่เงินต้นไม่ลด
นอกจากนี้ ถ้าไม่ปรับโครงสร้างหนี้ แต่เริ่มชำระหนี้ไม่ไหว แนะนำให้หยุดชำระหนี้ทั้งหมด เพื่อเก็บเงินเจรจาปิดบัญชีกับเจ้าหนี้
การเก็บเงินนั้น เก็บตามกำลังที่สามารถทำได้ โดยทำบัญชีรายรับรายจ่าย ตรวจสอบรายจ่ายที่จำเป็นและไม่จำเป็น
หากใช้จ่ายแบบประหยัดที่สุดจะเก็บเงินได้เท่าไรในแต่ละเดือน ระยะเวลาการเก็บเงินอยู่ที่ลูกหนี้ ถ้าเก็บเงินเร็วก็สามารถปิดบัญชีได้เร็ว
เมื่อพร้อมแล้วก็ไปเจรจาขอปิดบัญชีกับเจ้าหนี้ ด้วยเงินที่เก็บสะสมโดยต่อรองลดยอดหนี้ลงมา
โดยไม่ต้องใช้เงินเต็มตามจำนวนหนี้ วิธีนี้ทำให้ปิดบัญชีได้ในเงินก้อนเดียวแต่ถ้าหากส่งเงินปรับโครงสร้างหนี้เมื่อไรอาจจะเสียดอกเบี้ยอย่างเดียว
แต่เงินต้นไม่ลด
ในเรื่องของการฟ้องคดี เมื่อหยุดชำระหนี้ไปเพื่อเก็บเงิน ลูกหนี้อาจจะถูกฟ้องคดี ต้องดูว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินที่มีชื่อลูกหนี้ไหม
หรือมีเงินเดือนเกิน 20,000 บาทไหม ถ้าไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขนี้ ลูกหนี้จะไม่ถูกบังคับคดีในเรื่องของการยึดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือน
แต่ถ้ามีทรัพย์สินและไม่ต้องการให้โดนยึด ต้องไปประนอมหนี้ในชั้นศาลเพื่อไม่ให้ทรัพย์สินโดนยึด โดยประวิงเวลาไว้ก่อน
ในขณะเดียวกันก็เก็บเงินไปด้วย
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในกรณีที่ธนาคารปรับโครงสร้างหนี้โดยการ
รวมสัญญาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นฉบับเดียวนั้น สามารถทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ต้องตรวจสอบสัญญาที่รวมกันว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง
ระวังว่ามีเรียกค่าปรับเมื่อชำระล่าช้าหรือไม่ เป็นหนี้ที่ถูกต้องไหม
ส่วนเรื่องอายุความนั้นไม่ได้เปลี่ยน
เพียงแต่ในการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ส่วนมากจะให้ลูกหนี้รับว่าเป็นหนี้จำนวนเท่านี้
เมื่อลูกหนี้รับเท่ากับว่าเป็นการรับสภาพหนี้
ทำให้อายุความที่ผ่านมาสิ้นสุดลง ต้องเริ่มต้นนับใหม่
ระยะเวลาจึงยืดยาวออกไป เช่น สัญญากู้เดิม 10 ปี
ลูกหนี้ผิดนัดชำระแล้วไม่ถูกฟ้องมา 3 ปี อายุความก็จะเหลือ 7 ปี
เมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วมีการรับสภาพหนี้ด้วย
ระยะเวลาที่ผ่านมา 3 ปีจะไม่นับ เริ่มต้นใหม่เป็น 10 ปีเท่าเดิมเมื่อรับสภาพหนี้ในสัญญา