เครดิตบูโรชี้ ครัวเรือนไทย เผชิญ หนี้ท่วม จ่อถูกบังคับคดีพุ่ง 6.5 แสนคดี

2 เดือน 1 สัปดาห์ ที่ผ่านมา - 2 เดือน 1 สัปดาห์ ที่ผ่านมา #129555 โดย Badman
เครดิตบูโร’ ชี้ ครัวเรือนไทย เผชิญ ’หนี้ท่วม‘ จ่อถูกบังคับคดีพุ่ง 6.5 แสนคดี
ที่มา  www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1126635


“เครดิตบูโร” เปิดข้อมูลหนี้ครัวเรือนน่าห่วงขึ้นต่อเนื่อง “หนี้เสีย” ทะลัก 1.09 ล้านล้านบาท ไม่รวมหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน อีก 6.4 แสนล้านบาท สะท้อนลูกหนี้อ่อนแอหนัก ลามถูกฟ้องร้องกำลัง “ถูกบังคับคดี” ในไตรมาสแรกปีนี้อีก 6.5 แสนคดี

หากดูสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนไทย” ในปัจจุบัน ถือว่าน่าห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 91.03% หรือคิดเห็นหนี้ครัวเรือนที่ 16.3 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในนี้หากแยกเฉพาะข้อมูลที่อยู่บนระบบของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ “เครดิตบูโร”มีอยู่ทั้งสิ้น 13.6 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นราว 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเศรษฐกิจไทย หรือ “จีดีพีไทย” ที่ขยายตัวต่ำต่อเนื่อง สะท้อนการสร้างหนี้ของครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจกู้มาเพื่อชดเชยกับสภาพคล่องที่เหือดแห้งลงในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ให้มุมมองถึงสถานการณ์หนี้ในปัจจุบัน ว่า สถานการณ์น่าห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากดูจากสินเชื่อรวมภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโรใน 13.6 ล้านล้านบาท ในนี้กลายเป็นหนี้เสียไปแล้ว 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 8% หากเทียบกับหนี้ทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาที่หนี้เสียอยู่เพียง 1.05 ล้านล้านบาทเท่านั้น สะท้อนว่าหนี้เสียยังคงไหลต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในหนี้เสียจำนวน 1.09 ล้านล้านบาท ที่น่าห่วงคือ หนี้เช่าซื้อรถยนต์ ที่มีหนี้เสียถึง 2.38 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นต่อเนื่อง 32% เป็นหนี้ที่อยู่อาศัยอีก 1.99 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 18.2% สินเชื่อบุคคลอีก 2.6 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 12% และบัตรเครดิต 6.3 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 14.6% ขณะที่หนี้ที่กำลังจะเสีย แต่ไม่เกิน 90 วัน หรือกลุ่ม SM เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท เติบโตด้วยความเร็วราว 7% ไม่มาก 

อย่างไรก็ตาม หากดูไส้ในเป็นยอดค้างชำระหนี้ 1.86 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 15% สินเชื่อรถยนต์ค้างชำระ 2 แสนล้านบาท หรือ 7% และที่น่าห่วงคือ สินเชื่อบัตรเครดิตมาอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 32%โดยเฉพาะบัตรเครดิตที่มียอดหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระมากขึ้น หลังเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นมา หลังมีการปรับเกณฑ์การผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น 8% จาก 5% การที่หนี้ที่กำลังจะเสียของบัตรเครดิตเติบโตขึ้น 32% สะท้อนความอ่อนแอ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มีสูงขึ้น

ปัจจุบันมีบัตรเครดิตที่เป็นหนี้เสียแล้วไตรมาสแรก 1 ล้านสัญญา มีสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ 5 ล้านสัญญา ดังนั้น หากบอกว่าปัญหาไม่ได้ร้ายแรงไม่น่าใช่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท มีปัญหาและกำลังอยู่ในภาวะที่หนี้สินรุมเร้ามากขึ้น และหากยังเดินแบบนี้ปัญหาคดีความจะตามมาอีกมากในระยะข้างหน้า“เฉพาะหนี้เสียบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้าบาท จาก 6.1 หมื่นล้านบาท โดยหนี้เสียวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 15% หากเทียบกับปีก่อน การที่หนี้เสียวิ่งขนาดนี้ แล้วทุกตัว ไม่ว่า บ้าน บัตรเครดิต รถ สินเชื่อส่วนบุคคล สะท้อนว่าศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้ยอมแล้ว ไม่ไหวแล้ว โดยเฉพาะรถยนต์หนี้เสีย 2.3 แสนล้าน โต 32% บัตรเครดิตค้างชำระหนี้เพิ่มขึ้น 32% เป็นอะไรที่น่ากังวลมาก ซึ่งสภาพนี้ต้องกังวล ไม่ธรรมดาแน่นอน สะท้อนความอ่อนแอมันมีมากขึ้น”
ด้านหนี้เสียบัตรเครดิต และยอดค้างชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการปรับเพิ่มการจ่ายบัตรเครดิตที่ 8% หรือไม่นั้น เชื่อว่าทุกมาตรการที่ออกมา ผู้กำกับนโยบายก็ หวังผลสำเร็จ โดยหากให้ลูกหนี้ไม่อยากจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เพื่อปิดเงินต้นเร็วขึ้น
แต่อย่าลืมว่า การจ่ายหนี้มากขึ้น จะต้องมาจากรายได้เพิ่มขึ้น จากธุรกิจฟื้นตัวเร็ว แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ถึง2% ดังนั้นผลของการปรับมาตรการขั้นต่ำเป็น 8% จึงมีผลกระทบกับลูกหนี้บางกลุ่ม เพราะภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น 3% เป็นภาระที่หนักขึ้นสำหรับลูกหนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาระผ่อนหลายใบ
เป็นผลให้ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) บังคับให้แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียก่อน 1ครั้ง เพื่อหยุดน้ำที่จะไหลเข้ามาต่อเนื่อง แต่เหล่านี้ยังมีเงื่อนไขของการปรับโครงสร้างหนี้ว่าต้องพิสูจน์ว่า รายได้มีความมั่นคงแน่นอนสม่ำเสมอ จะสามารถจ่ายหนี้ตามสัญญาใหม่ได้หรือไม่ แต่ถ้าลูกหนี้ได้รับผลกระทบเช่นถูกเลิกจ้าง ลูกหนี้จะเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ได้หรือไม่
ดังนั้น ต้องพิจารณาว่า “เบาะรอง” ให้คนที่กำลังทรุดตัวลงไป จะมีมาตรการอื่นๆเข้ามาเสริมหรือไม่? ซึ่งหากไม่รีบกลับมาดู หรือทบทวนด้วยความรวดเร็ว อาจจะสายเกินไป ดังนั้นหน้าที่ของคนที่มีข้อมูล จะต้องทบทวนนโยบายหรือมาตรการว่าควรปรับเปลี่ยนหรือไม่
“การผ่อนขั้นต่ำเป็น 10% เป็นสิ่งที่กังวลเยอะๆ เพราะลองคิดภาพแค่จ่ายขั้นต่ำที่ 5% ตึงมือ พอมาเป็น 8% หนี้เสียไหล 10% ยิ่งแย่ เหมือนบังคับคนผ่าไส้ติ่งให้รีบเดิน แต่ผมยังเป็นเบาหวานอยู่แผลยังไม่หายสนิทเร็ว ดังนั้นความหวังดีตรงนี้จะทำให้ท้ายที่สุด จะทำให้ต้องกลับเข้าโรงหมอด้วยอาการสาหัสมากขึ้นหรือไม่ อันนี้อาการมันออก แค่3เดือนหนี้กระโดดขึ้นมาที่ 32%”กลุ่มที่น่าห่วง และมีโอกาสไหลเข้ามาเป็นหนี้เสียมากขึ้นในระยะข้างหน้า คือบัตรเครดิต และสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านที่มีราคาบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาทลงมา กลุ่มนี้มีรายได้ไม่มากนัก
ขณะเดียวกันที่น่ากังวลอีกด้าน คือจากข้อมูลของ คณะทำงานในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน พบว่า ไตรมาสแรกปี 2567 มีคดีที่ถูกฟ้องแพ่ง 458,005 คดี คดีส่วนอาญา มี 1.84 แสนคดี คดีคดีส่วนอาญา มี 1.84 แสนคดี คดีปรับพินัย 123 คดี รวมทั้งสิ้นมีคดีที่เข้าสู่การฟ้องร้องและการพิจารณาของศาลรวม 643,632 คดี
โดยใน 5 อันดับแรก คือ ที่เป็นคดีผู้บริโภค พบว่า เป็นคดีที่มาจากการกู้ยืม 5.2 หมื่นข้อหา คดีบัตรเครดิต 4.4 หมื่นข้อหา สินเชื่อบุคคล 4.2 หมื่นข้อหา สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 2.9 หมื่นข้อหา และค้ำประกันอีก 1.1 หมื่นข้อหา
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2566 พบว่า มียอดฟ้องลูกหนี้ทั้งสิ้น 1.89 ล้านคดี เป็นคดีแพ่งมากถึง 1.34 ล้านคดี โดยเป็นคดีผู้บริโภคมากที่สุด 7 แสนคดี ที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของลูกหนี้หลายครัวเรือนให้ได้รับผลกระทบ เพราะมีลูกหนี้เป็นเดิมพัน ต่างกับปี 40 เป็นการฟ้องร้องนิติบุคคลที่ไม่มีชีวิต แต่ปีนี้ เป็นการฟ้องคนที่มีชีวิต ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ครั้งนี้ถือว่ายากมากขึ้น
ไม่เฉพาะลูกหนี้เสีย ที่อาจได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้องยึดทรัพย์ตามมา แต่ลูกหนี้กลุ่ม SM ก็เช่นเดียวกัน ที่หากไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ และไหลไปเป็นหนี้เสีย และไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ เหล่านี้ท้ายที่สุดก็จะเข้าสู่การดำเนินคดีทางกฎหมายเช่นเดียวกัน ดังนั้นน่าห่วง เพราะแนวโน้มการฟ้องร้องคดีต่างๆมีแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้จะเห็นไม่ต่ำกว่า 1ล้านคดี
“ตอนนี้เห็นแผ่นดินไหวตรงบัตรเครดิต เมื่อเทียบกับไตรมาส4 เราเห็นแผ่นดินไหวที่สินเชื่อรถยนต์ เราเห็นอาฟเตอร์ช็อกที่หนี้บ้าน และไตรมาสแรกปีนี้แผ่นดินไหวที่บัตรเครดิต เมื่อไหร่ก็ตามที่ 4 หนี้เกิดแผ่นดินไหวพร้อมๆกัน สึนามิจะมา ผมถึงบอกว่าหากถึงวันนั้น สึนามิไหลบ่าเข้ามาในแผ่นดิน มันคือความเสียหาย และสิ่งที่ส่งสัญญาณมาแล้วคือการยื่นฟ้องเมื่อปีก่อน1.3ล้านคดีที่เป็นคดีแพ่ง วนเวียนอยู่ที่สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครติต และปีนี้มีอีก4.5แสนคดีที่เป็นคดีแพ่ง ที่เป็นภาพที่เราเห็นในวันนี้”สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครอยากเห็นสถาบันการเงินไม่เข้มแข็ง แต่คำถามคือ หากคุณภาพลูกหนี้อ่อนด้อยลง สถาบันการเงินก็ไม่มีทางเข้มแข็งไปมากกว่าคุณภาพลูกหนี้ ดังนั้นต้องชั่งใจว่า จะเก็บลูกหนี้ไว้ หรือขายทิ้งลูกหนี้ หรือปล่อยให้เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง เป็นเรื่องที่สถาบันการเงินต้องชั่งน้ำหนักมากขึ้น!
รับชมคลิปเต็มได้ที่นี่ 
ไฟล์ที่แนบมาด้วย:
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: axial

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

ผู้ดูแล: Badmankonsiam
เวลาที่ใช้ในการสร้างหน้าเว็บ: 0.472 วินาที
ขับเคลื่อนโดย ระบบฟอรัม Kunena