ขอความคิดเห็นเรื่อง มีกระทู้แยกแต่ละธนาคารและสถาบันการเงิน

7 ปี 7 เดือน ที่ผ่านมา #89986 โดย Debtboy
ขออนุญาต admin ตั้งกระทู้อีกอันครับ เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์
รบกวนขอความเห็น admin และ สมาชิก เรื่อง ควรมีหัวข้อกระทู้แยกแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่ออัพเดทเฉพาะเกี่ยวกับธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นๆ โดยตั้งจาก admin ครับ เช่น
หัวข้อกระทู้ "อัพเดทของ TMB" ก็จะพูดคุยกันเรื่อง TMB โดยเฉพาะ ทั้งสินเชื่อและบัตรเครดิต เพื่ออัพเดทเรื่องต่างๆ ของสมาชิกแต่ละท่าน ให้เป็นปัจจุบัน และเป็นเป็นประโยชน์กับสมาชิกท่านอื่น
- ระยะเวลายื่นฟ้อง ช้า-เร็ว มากแค่ไหน
- ส่วนลดที่ได้ (ตอนนี้ลดแค่ดอก หรือว่าลดมากขึ้นแล้ว)

จริงๆแล้วมีระบบ search อยู่แล้ว แต่พอค้นหา บางกระทู้ก็รวมๆทุกสถาบัน(ขึ้นอยู่กับสมาชิกเป็นหนี้อันไหนบ้าง)
ปัญหาคือ พอถามในกระทู้แล้ว บางทีได้คำตอบไม่ตรงกับที่ต้องการบางทีได้คำตอบแต่ไม่อัพเดท ซึ่งตอนนี้อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว จึงเรียนสอบถามขอความเห็นสมาชิกเรื่องนี้ครับ

ผมมีตัวอย่างกระทู้ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ครับ อันนี้ของ TMB ก็จะคุยและอัพเดทเฉพาะ TMB
debtclub.consumerthai.org/index.php?option=com_kunena&view=topic&catid=5&id=42967&Itemid=64

ขอความอห็นด้วยครับ
ถ้าผิดกฎและ admin เห็นว่าไม่สมควรอย่างไร ลบกระทู้ได้เลยครับ

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

7 ปี 7 เดือน ที่ผ่านมา #89987 โดย Pheonix
เห็นด้วยอย่างยิ่งครัับ เพราะปัญหาแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน คำตอบจึงแตกต่างกัน
ธนาคารทหารไทย ปรับดอกเบี้ยเป็นอัตราสูงสุด เอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคมาก
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓/๒๕๔๗
แพ่ง โมฆะกรรม (ม.๑๕๐)
เบี้ยปรับ (ม.๓๗๙)
วิธีพิจารณาความแพ่ง พิพากษาไม่เกินคำขอ (ม.๑๔๒)
พระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ (ม.๑๔, ๔๔)
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดดอกเบี้ยต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ (๒) และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีร้อยละ ๑๒.๒๕ ต่อปี และสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีร้อยละ ๑๒.๗๕ ต่อปี แต่ตามสัญญากู้เงินข้อ ๒ และข้อ ๓ ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี อันเป็นอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดสำหรับเรียกเก็บจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อมีการทำสัญญากู้เงินกันเป็นต้นไป อันเป็นกรณีที่จำเลยยังไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และโจทก์ยังไม่มีสิทธิทำสัญญาเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ (๒) อันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมาตรา ๔๔ จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ และแม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะผ่อนผันคิดดอกเบี้ยจากจำเลยต่ำกว่าอัตราตามที่ระบุไว้โดยมิชอบก็ไม่เป็นเหตุให้ข้อสัญญานั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้
ส่วนการคิดดอกเบี้ยหลังจากที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินนั้น ตามสัญญากู้เงินข้อ ๔ ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่ระบุในสัญญาข้อ ๒ ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ และในกรณีที่มีการผิดนัดแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วในอัตราผิดนัดสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ได้ โดยไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย จึงไม่ตกเป็นโมฆะ แต่การกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสูง อันเนื่องมาจากการที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการผิดสัญญา เท่ากับเป็นข้อสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายในลักษณะเป็นดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า อันถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๙ ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วน ก็มีอำนาจพิพากษาลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา ๓๘๓
เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์แล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด ส่วนวันผิดนัดที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๐ นั้น จำเลยต้องชำระหนี้แก่โจทก์เป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน และตามคำฟ้องปรากฏว่า จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ หลังจากนั้นไม่ชำระ ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป ซึ่งย่อมหมายความว่า จำเลยจะผิดนัดไม่ชำระหนี้ของงวดเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ ต่อเมื่อพ้นกำหนดวันสิ้นเดือนของเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ ไปแล้ว คือ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไป ซึ่งปัญหาว่า จำเลยจะต้องรับผิดตรงตามคำฟ้องและตามกฎหมายเพียงใดนั้น เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๒๔๗
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๗ จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี โดยจะผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไป และจำเลยที่ ๒ จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๖๙๗ พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์เพื่อประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญา ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระ รวมกับดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน ๕๔๐,๓๓๕.๘๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๓๘๐,๙๙๖.๐๓ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๘๐,๙๙๖.๐๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๖๙๗ ตำบลพยอม (คลองหกวาสายบนฝั่งเหนือ) อำเภอวังน้อย (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๒,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๗ จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท มีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่า จำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารโจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ (ขณะทำสัญญา เท่ากับอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี) และยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดชำระหนี้คืนภายใน ๖๐ เดือน นับแต่วันทำสัญญา โดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไป หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ถือว่าผิดนัดทั้งหมด รายละเอียดปรากฏตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๓ โดยอัตราดอกเบี้ยที่ระบุเป็นตัวเลขร้อยละ ๑๙ ต่อปี ดังกล่าว เป็นอัตราผิดนัดสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ในขณะที่ทำสัญญากู้เงินนี้ และจำเลยที่ ๒ จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดในสัญญา โดยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท แล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่อง ดอกเบี้ยและส่วนลดตามเอกสารหมาย จ.๑๕ และธนาคารโจทก์ได้ออกประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อตามเอกสารหมาย จ.๑๖ และออกคำสั่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในการอำนวยสินเชื่อตามเอกสารหมาย จ.๑๔
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อสัญญากู้เงินเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ (๒) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติ ในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ ตามเอกสารหมาย จ.๑๕ โดยตามประกาศดังกล่าวข้อ ๓ (๑) และ (๒) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี กับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และในประกาศดังกล่าวข้อ ๓ (๔) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภท ได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี บวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไข
และข้อเท็จจริง ได้ความตามคำสั่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในการอำนวยสินเชื่อของธนาคารโจทก์ เอกสารหมาย จ.๑๔ ว่า ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๗ ซึ่งจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมจากโจทก์ โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีร้อยละ ๑๒.๒๕ ต่อปี และสำหรับรายย่อยชั้นดีร้อยละ ๑๒.๗๕ ต่อปี แต่ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๒ และ ข้อ ๓ ระบุถึงข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไข ทั้งที่ตามสัญญาข้อ ๒ และข้อ ๓ ดังกล่าวกำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยนี้โดยผ่อนชำระทุกวันสิ้นเดือนนับแต่เดือนมกราคม ๒๕๓๘ ซึ่งเป็นการชำระงวดแรกถัดจากเดือนที่ทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไป ข้อสัญญานี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อมีการทำสัญญากู้เงินกันเป็นต้นไป อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองยังไม่ตกเป็นลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด
และในกรณีนี้โจทก์ยังไม่มีสิทธิทำสัญญาเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข โดยจะเรียกดอกเบี้ยอัตรานี้ได้ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น จึงจะถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.๑๕ ข้อ ๓ (๔) ดังกล่าวข้างต้น ข้อสัญญาในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวเช่นนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ (๒) อันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาปรับไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมาตรา ๔๔ ข้อสัญญาในการคิดดอกเบี้ยนี้ย่อมเป็นข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ และแม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะผ่อนผันคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ต่ำกว่าอัตราตามที่ระบุไว้โดยมิชอบตามสัญญานั้นก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้
ส่วนการคิดดอกเบี้ยหลังจากที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินนั้น ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๔ ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่ระบุในสัญญาข้อ ๒ ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ และในกรณีที่มีการผิดนัดแล้วเช่นนี้ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วในอัตราผิดนัดสูงสุดสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนตามประกาศธนาคารโจทก์ได้ โดยไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.๑๕ ข้อ ๓ (๔) ดังกล่าวมาแต่อย่างใด สัญญาข้อ ๔ นี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ อย่างไรก็ตาม ความตามสัญญาข้อ ๔ นี้เป็นการกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสูงอันเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการผิดสัญญา เท่ากับเป็นข้อสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายในลักษณะเป็นดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า อันถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๙ ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วน ก็มีอำนาจพิพากษาลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓
และเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินรายนี้แล้ว เห็นว่า ตามปกติโจทก์อาจคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่โจทก์กลับทำสัญญาโดยหวังให้ตนมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น จนเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นเหตุให้ข้อสัญญาข้อ ๒ ตกเป็นโมฆะดังได้วินิจฉัยมาแล้ว เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดได้เลย ดังนี้อัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามที่ระบุในสัญญากู้เงินข้อ ๔ ที่กำหนดไว้เป็นอัตราผิดนัดสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราสูงมาก เช่น บางช่วงอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี และบางช่วงสูงถึงร้อยละ ๒๔ ต่อปี นับว่าเป็นเบี้ยปรับในลักษณะดอกเบี้ยที่สูงเกินส่วนไปมาก เห็นสมควรลดลงเหลือเพียงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์แล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด ส่วนวันผิดนัดที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๐ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้แก่โจทก์เป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน และตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเดือน กรกฎาคม ๒๕๔๐ หลังจากนั้นไม่ชำระ ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป ซึ่งย่อมหมายความว่า จำเลยทั้งสองจะผิดนัดไม่ชำระหนี้ของงวดเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ ต่อเมื่อพ้นกำหนดวันสิ้นเดือนของเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ ไปแล้ว คือ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไป ซึ่งปัญหาว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตรงตามคำฟ้องและตามกฎหมายเพียงใดนั้นเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๒๔๗”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์มาแล้วนับตั้งแต่วันกู้ยืม (วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๗) จนถึงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
(ไพโรจน์ วายุภาพ ปัญญา ถนอมรอด วรนาถ ภูมิถาวร)
(คำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช ๒๕๔๗ ตอนที่ ๔ หน้า ๕๓๙ ถึง ๕๕๐ จัดพิมพ์โดยเนติบัณฑิตยสภา)
หมายเหตุ
ท่านปัญญา ถนอมรอด ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙
ท่านไพโรจน์ วายุภาพ ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
- - - - - - - - - -
คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ น่าจะนำไปต่อสู้คดีได้

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

ผู้ดูแล: MommyangelBadmankonsiam
เวลาที่ใช้ในการสร้างหน้าเว็บ: 0.446 วินาที
ขับเคลื่อนโดย ระบบฟอรัม Kunena