หนี้เสียโป่งเจเอ็มทีซื้อเพิ่ม 23 March 2017

7 ปี 3 สัปดาห์ ที่ผ่านมา #93420 โดย Pheonix
เจเอ็มทีประเมินแนวโน้มเอ็นพีแอลขาขึ้น ตั้งงบซื้อหนี้เสียจากแบงก์และนอนแบงก์เพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท ชี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคลและรถยนต์ หวังผลตอบแทนขั้นต่ำ 12%

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าแนวโน้มหนี้ด้อยคุณภาพยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทั้งในส่วนของธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์

ธนาคารพาณิชย์ยังคงตัดขายหนี้ออกมาต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการเอ็นพีแอลให้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของธุรกิจ ในขณะที่สถาบันการเงินที่ไม่ไม่ธนาคารพาณิชย์ต่างทยอยขายพอร์ตหนี้ออกมามากขึ้นจากเดิมจะบริหารเองกรณีลูกค้าเริ่มค้างชำระ 1-3 เดือน แต่หลังจากค้างชำระ 4-6 งวด จะเริ่มจ้างบริษัทจากภายนอกติดตามหนี้ แต่ถ้าค้างเกินจากงวดดังกล่าวจะตัดเป็นหนี้สูญหรือ Write-Offs ทันที

จากแนวโน้มหนี้ด้อยคุณภาพที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น บริษัทจึงตั้งงบประมาณเพิ่มเติมไว้รองรับการซื้อหนี้มาบริหารเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งรับซื้อหนี้ไว้แล้ว 3 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ที่ยังเป็นพระเอกในปีนี้ยังเป็นหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ ในอัตราสัดส่วนเท่ากัน 50% หรือเฉลี่ยพอร์ตละประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามพอร์ตรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังเป็นพระเอก เนื่องจากผู้ให้บริการหรือ Non Bankเร่งการเติบโตของพอร์ตค่อนข้างมาก ทำให้เกิดหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งเฉลี่ยหนี้ส่วนบุคคลต่อรายจะอยู่ที่ 2 หมื่นบาท และหนี้รถยนต์เฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 แสนบาทต่อราย

ขณะที่สัดส่วนการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ แบ่งเป็นการรับซื้อจากสถาบันการเงินประมาณ 70% และอีก 30% จะมาจากนอนแบงก์ โดยบริษัทตั้งเป้าผลตอบแทนจากการซื้อหนี้บริหารทุกกองอย่างน้อย 12% อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นขึ้นอยู่กับการเก็บหนี้ แต่อย่างน้อยบริษัทจะบริหารไม่ให้ต่ำกว่า 12% เพื่อเป็นการชี้วัดของบริษัท โดยปีก่อนบริษัทสามารถเก็บหนี้อยู่ที่ 1,200-1,300 ล้านบาท

นอกจากนี้ตั้งเป้าเติบโตในส่วนของรายได้และกำไรในปีนี้อยู่ที่ 15% จากปีก่อนมีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ที่ 207% โดยพอร์ตบริหารหนี้คงค้างปัจจุบันอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท คาดภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 1.3 แสนล้านบาท

“ภาพรวมหนี้เสียในระบบยังเป็นช่วงขาขึ้น จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และธนาคารเองก็ยังคงทยอยตัดพอร์ตขายออกมาต่อเนื่อง ซึ่งหนี้ที่ซื้อมารวมหนี้ปรับโครงสร้างด้วย แต่มีไม่เยอะมาก เพราะมีข้อกำหนดอยู่ว่าแบงก์จะต้องมีหนี้ปรับโครงสร้างอยู่ที่ 1% หรือมากสุดไม่เกิน 2% ของพอร์ตรวม ทำให้ปีนี้เราเตรียมงบประมาณไว้เผื่ออีก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อหนี้บริหาร ส่วนผลตอบแทนเราตั้งเบนมาร์คไว้ที่ 12%”

ส่วนมติคณะรัฐมนตรีแก้ไขร่างพ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เปิดทางให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆสามารถขยายขอบเขตในการดำเนินธุรกิจในการรับซื้อ รับโอน หรือรับจ้างบริหารหนี้เสียที่ไม่หลักประกันหรือคลีนโลนได้นั้น

นายปิยะ กล่าวว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ทั้งในส่วนของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทฯ(SAM)และ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพฯพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) (BAM)สามารถรับซื้อหนี้มาบริหารได้หมด ซึ่งปกติทั้ง 2 หน่วยงานจะถนัดบริหารพอร์ตใหญ่ หรือการบริหารสินทรัพย์ที่ต้องนำไปปรับปรุงและขายต่อหรือสินทรัพย์รอการขายซึ่งไม่ได้เน้นการบริหารพอร์ตรายย่อย แต่หลังจากนี้สามารถทำได้ ทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

Facebook0TwitterGoogle+Line

ปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

ผู้ดูแล: MommyangelBadmankonsiam
เวลาที่ใช้ในการสร้างหน้าเว็บ: 0.349 วินาที
ขับเคลื่อนโดย ระบบฟอรัม Kunena