จะสู้คดี อายุความสินเชื่อ

7 ปี 4 เดือน ที่ผ่านมา - 6 ปี 9 เดือน ที่ผ่านมา #91044 โดย Sucha7889
เป็นหนี้ กรุงศรีสไมล์แคช สินเชื่อร
เงินต้น 237,269.24
ดอก 299,202.93
ยอดฟ้อง 536,472.17
วดป ฟ้อง 30 กย.2559
ไปศาลตลิ่งชัน 21 พย.2559
โจทก์บริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา
กู้สินเชื่อ 11มค.54 ยอดกู้ 250,000
สัญญาชำระทุกสิ้นเดือน ยอด 6,905
ชำระดังนี้ค่ะ
งวด1.นัดชำระ 28 กพ.54 วดป.ชำระ 22 กพ.54=6,905
งวด2.นัดชำระ 31 มีค.54 วดป.ชำระ 22 มีค.54=6,905
งวด3.นัดชำระ 30 เมย.54 วดป.ชำระ 22 เมย.54=6,905
งวด4.นัดชำระ 31 พค.54 วดป.ชำระ 22 พค.54=6,905
งวด5.นัดชำระ 30 มิย.54.วดป.ชำระ 20 มิย.54=6,905
งวด6.นัดชำระ 31กค.54 วดป.ชำระ 2 สค.54=6,905
งวด7.นัดชำระ 31 สค.54 หยุดชำระ

1.จะถือว่า เดือน สิงหาคม54 เราชำระหรือเปล่าค่ะ ถ้าใช่ เราก็ผิดชำระ 30 กันยายน54 อายุความ=5ปี

2.ถ้า..ผิดนัดชำระ 31 สิงหาคม 54 อายุความ = 5ปี 1 เดือน

ปล. Statement ไม่มีเลยค่ะ น้ำท่วมหมด
รบกวนขอเบอร์ พี่ๆๆๆทนาย..ด้วยค่ะ
ด้วยความเคารพ
น้อง

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

7 ปี 4 เดือน ที่ผ่านมา - 6 ปี 9 เดือน ที่ผ่านมา #91050 โดย Pheonix
.
ข้อ ๑. ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๔/๒๕๕๑ สำเนาเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๑ พิพากษาว่า สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงว่า จำเลยสัญญาว่าจะใช้เงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ดังนี้ การฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาดอกเบี้ย พร้อมต้นเงินเพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีกำหนดอายุความไว้ห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓ (๒) (มาตรา ๑๖๖ เดิม) มิใช่กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อันต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินโจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท ยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี กำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท จนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้ว แต่ไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ โจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๕๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัดครั้งแรกเป็นเวลาเกินกว่า ๕ ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๕๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นจำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี โดยในสัญญากู้ยืมนั้น ได้มีข้อตกลงผ่อนชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นเดือน เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.๑ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.๑ ไม่ปรากฏว่าให้ผ่อนชำระกันเป็นระยะเวลาเท่าใดหรือกี่งวด ดังนี้ย่อมไม่อยู่ในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓ (๒) ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.๑ ที่โจทก์อาศัยเป็นหลักฐานฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนั้นได้มีข้อตกลงในข้อ ๓ ว่า จำเลยที่ ๑ สัญญาว่า จะใช้เงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นเดือน เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ดังนี้ การฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง จึงถือได้ว่า เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยพร้อมต้นเงิน เพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีกำหนดอายุความไว้ห้าปี ตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓ (๒) (มาตรา ๑๖๖ เดิม) แล้ว หาใช่กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อันต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐ ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ฟ้อง
โจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย” พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( สิริรัตน์ จันทรา - สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - ณรงค์พล ทองจีน )

หมายเหตุ สัญญากู้ยืมเงินก่อให้เกิดหนี้แก่ผู้กู้ยืมเงินที่จะต้องคืนเงินต้นที่กู้ยืมไปแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ถ้าตกลงให้คืนเงินต้นทั้งหมดในคราวเดียวโดยมีกำหนดเวลาหรือไม่มีกำหนดเวลาไว้แน่นอนจะมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๒/๓๐ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๖๐/๒๕๔๕) ถ้าตกลงให้ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ โดยกำหนดจำนวนงวดไว้ หรือกำหนดเวลาชำระเสร็จไว้ หรือไม่ได้กำหนดเวลาไว้ ถือได้ว่าเป็นเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีกำหนดอายุความ ๕ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๓ (๒) (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๗/๒๕๔๑) ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระไม่ว่ากรณีใดมีอายุความ ๕ ปี เสมอตามมาตรา ๑๙๓/๓๓ (๑) มิใช่กรณีตาม ๑๙๓/๓๓ (๒) ดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยรวมกันไปกับการชำระเงินต้นซึ่งเป็นเงินทุน เพราะดอกเบี้ยมิใช่เงินทุนแต่อย่างใด

ไพโรจน์ วายุภาพ
หมายเหตุ ท่านไพโรจน์ วายุภาพ เป็นประธานศาลฎีกา
ตั้งแต่วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓ สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (๑) ดอกเบี้ยค้างชำระ (๒) เงินที่ต้องผ่อนชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ มาตรา ๑๙๓/๑๒ อายุความให้เริ่มนับแต่ในขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป มาตรา ๑๙๓/๒๖ เมื่อสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความ ให้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นขาดอายุความด้วย แม้ว่าอายุความของสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นจะยังไม่ครบกำหนดก็ตาม

ข้อ ๒. ตามคำฟ้องข้อ ๒. เดิมจำเลยเป็นหนี้อยู่กับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ จำเลยได้ตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) อนุมัติให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๐.๕๐ ต่อเดือน ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ ๐.๗๙ ต่อเดือน ซึ่งจำเลยตกลงชำระเงินกู้โดยแบ่งชำระออกเป็นงวดรายเดือน จำนวน ๑๒ เดือน โดยชำระขั้นต่ำในอัตราร้อยละ ๘ ของยอดเงินกู้ตามสัญญา หรือเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำเดือนละ ๒,๘๘๗.๐๐ บาท โดยกำหนดชำระงวดแรกวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๒ งวดต่อไปชำระทุกวันที่ ๒ ของเดือนถัดไป ทุก ๆ เดือน และจำเลยได้รับเงินกู้เป็นเงินสดไปเรียบร้อยแล้วในวันทำสัญญา รายละเอียดปรากฎตามสำเนาภาพถ่ายสัญญาเงินกู้ และเงื่อนไขข้อตกลง เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ ตามคำฟ้องข้อ ๓. นับแต่จำเลยได้ทำสัญญาเงินกู้ และรับเงินไปจากบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) แล้ว จำเลยไม่เคยชำระหนี้เงินกู้คืนให้แก่บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ ฯ อีกเลย คำนวณยอดหนี้ ณ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ จำเลยมีหน้าที่รับผิดชำระหนี้ต้นเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยคงค้างจำนวน ๔,๑๒๕ บาท รวมเป็นเงินคงค้างจำนวน ๓๔,๑๒๕ บาท การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ในฐานะที่ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยมีหน้าที่รับผิดชำระเงินให้กับโจทก์จำนวน ๓๔,๑๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท โดยเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ เรื่อยมาจนถึงวันฟ้อง ซึ่งโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง ๕ ปี เป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน ๒๒,๕๐๐ บาท รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๕๖,๖๖๖.๒๘ บาท ซึ่งโจทก์ขอถือเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้ รายละเอียดปรากฎตามสำเนาภาพถ่ายตารางการผ่อนชำระค่างวดสินเชื่อเงินกู้ส่วนบุคคล และตารางสรุปยอดหนี้ค้างชำระและการคิดดอกเบี้ย เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๘ และ ๙ ตามลำดับ

ข้อ ๓. จำเลยขอให้การว่า เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ จำเลยได้ตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) อนุมัติให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๐.๕๐ ต่อเดือน คิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ ๐.๗๙ ต่อเดือน จำเลยตกลงชำระเงินกู้โดยแบ่งชำระออกเป็นงวดรายเดือน จำนวน ๑๒ เดือน โดยชำระขั้นต่ำเดือนละ ๒,๘๘๗.๐๐ บาท โดยกำหนดชำระงวดแรกวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๒ งวดต่อไปชำระทุกวันที่ ๒ ของเดือนถัดไป ทุก ๆ เดือน ตามคำฟ้องข้อ ๓. จำเลยไม่เคยชำระหนี้เงินกู้คืนให้แก่บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เลย ดังนั้น จำเลยจึงผิดนัดชำระหนี้ค่างวดให้แก่บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) งวดแรกวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๒ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๕ อายุความให้เริ่มนับแต่ในขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนั้น บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๒ เป็นต้นไป โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) โจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ นับจากวันเริ่มนับอายุความวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๒ คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๖ ปี ๑๑ เดือน ๑๖ วัน จึงเกินกำหนดเวลา ๕ ปี ตั้งแต่วันเริ่มนับอายุความ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓ สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (๒) เงินที่ต้องผ่อนชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จำเลยกู้ยืมเงินบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ตกลงชำระเงินค่างวดโดยแบ่งชำระออกเป็น ๑๒ งวด ผ่อนชำระขั้นต่ำเดือนละ ๒,๘๘๗ บาท จึงเป็นหนี้กู้ยืมเงิน ผ่อนชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ มีอายุความ ๕ ปี และเมื่อสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๒๖ ให้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นขาดอายุความด้วย ดังนั้น ดอกเบี้ยคงค้าง และดอกเบี้ยผิดนัด จึงขาดอายุความด้วย จำเลยจึงกราบขอประทานศาลได้โปรดยกฟ้องของโจทก์เสียทั้งสิ้น

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

7 ปี 4 เดือน ที่ผ่านมา #91052 โดย jackTs
.
คุณอาไพโจน์ (ทนายความ)


.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
ไฟล์ที่แนบมาด้วย:

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

6 ปี 9 เดือน ที่ผ่านมา #95255 โดย Sucha7889
7 มีนาคม 2560 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ...ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้อง
18 มิถุนายน 2560 มีหมายศาลมาปิดค่ะ...โจทก์อุทธรณ์...คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า...
***การกำหนดอัตราการชำระต่องวดนั้น เป็นการกำหนดไว้เป็นขั้นต่ำ ซึ่งจำเลยอาจจะผ่อนชำระมากกว่าจำนวนที่กำหนดก็ได้ นอกจากนี้ตามรายละเอียดการชำระหนี้ของจำเลยตามเอกสารหมาย จ๑๕ และ จ๑๘ จะเห็นว่า จำเลยก็มิได้ผ่อนชำระทุกงวดทุกเดือน และมิได้ผ่อนชำระเท่ากันทุกงวด ทำให้ในบางงวดเงินที่จำเลยชำระสามารถนำไปหักชำระได้เพียงดอกเบี้ยที่ค้างชำระเท่านั้นและยังคงเหลือดอกเบี้ยค้างชำระ ไม่สามารถนำไปตัดชำระเงินต้นได้ ดังนี้ การผ่อนชำระหรี้ตามเอกสารหมาย จ๙ จึงไม่ใช่ การผ่อนชำระโดยผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๙๓/๓๓ (๒) ซึ่งมีอายุความ ๕ ปี แต่เป็นการกู้ยืมทั่วไปซึ่งไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์มาตรา ๑๙๓/๓๐ ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี

ช่วยทีค่ะ
กรณีนี้ จะเป็น คดีอายุความ 5 ปี หรือ 10 ปี ค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ
PimolK.

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

6 ปี 9 เดือน ที่ผ่านมา - 6 ปี 9 เดือน ที่ผ่านมา #95258 โดย jackTs

pimolk เขียน: 7 มีนาคม 2560 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ...ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้อง

18 มิถุนายน 2560 มีหมายศาลมาปิดค่ะ...
โจทก์อุทธรณ์ ...คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น


โจทก์มันจะอุทธรณ์ยังไง ก็เรื่องของมันสิครับ เป็นสิทธิ์ตามกฎหมายที่มันสามารถทำได้อยู่แล้ว
หากศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้น ถึงโจทก์มันจะอุทธรณ์ต่ออย่างไร...มันก็ขาดอายุความอยู่ดี

คุณต้องจ้างทนายไปสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ เหมือนกับในกรณีของศาลชั้นต้นที่ผ่านมา นั่นแหละครับ
เพราะมันเคยมีตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกา(ซึ่งเป็นศาลชั้นที่สูงที่สุด) ได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานเอาไว้แล้ว (อยู่ในฎีกาหมายเลขที่ ๑๓๔/๒๕๕๑) , (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๖๐/๒๕๔๕) ,
(คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๗/๒๕๔๑)
ตามที่คุณ Pheonix ได้ลงเอาไว้ให้ดู อยู่ในด้านบนของกระทู้นี้แหละ

ดังนั้น...ศาลใดๆก็ตาม ที่อยู่ในชั้นที่ต่ำกว่าศาลฎีกา (ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น หรือ ศาลอุทรณ์ก็ตาม) ก็จะไม่สามารถพิพากษาแย้งให้เป็นอื่นใดไปได้...ต้องพิพากษาให้เป็นไปตามที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยเอาไว้แล้วเท่านั้น
.

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

ผู้ดูแล: MommyangelBadmankonsiam
เวลาที่ใช้ในการสร้างหน้าเว็บ: 0.586 วินาที
ขับเคลื่อนโดย ระบบฟอรัม Kunena