อายุความในการบังคับคดี (ยึดทรัพย์ + อายัดเงินเดือน)

12 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมา - 8 ปี 5 เดือน ที่ผ่านมา #1296 โดย 0834368962
กระทู้นี้ พี่นกกระจอกเทศ เคยลงไว้ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2010, 14:54


ถาม : ผมมีหนี้บัตรเดรคิตครับ โดนฟ้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2542 จนถึงปัจจุบันเดือนกันยายน 2552 ผมอยากทราบว่า คดีความหมดอายุหรือยัง นี่ก็เป็นเวลา 10 ปีกว่าแล้ว เจ้าหนี้หรือกองบังคับคดีมีสิทธิอายัดเงินเดือนหรือเปล่าครับ เพราะตอนนี้ผมเพิ่งจะเข้ามาทำงานใหม่ ช่วยตอบให้ทราบด้วยครับ

ตอบ : ความหมายในทางกฎหมายที่บอกไว้ว่า อายุความ 10 ปีนั้น…หมายถึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาจากศาลเป็นต้นไป จนถึง 10 ปี ดังนั้น กรณีของคุณก็ต้องดูว่า มีคำพิพากษาจากศาลเมื่อไหร่ แล้วนับไปจากนั้น ภายในระยะเวลา 10 ปี ถ้ายังอยู่ในระยะเวลาดังกล่าว เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับคดีกับคุณได้ตลอดเวลา
แต่ถ้าเลยจาก 10 ปีแล้ว หรือเริ่มขึ้นปีที่ 11 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะมาบังคับคดีกับคุณ

ทางที่ดีคุณควรจะต้องไปตรวจสอบดูว่า มีคำสั่งศาลพิพากษาของคุณวันไหน เพื่อจะได้แน่ใจว่า หมดอายุความหรือยัง เพราะถ้ายังไม่หมดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังสามารถที่จะบังคับให้คุณใช้หนี้ได้ภายใน 10ปีที่ว่านี้ โดยเจ้าหนี้จะทำการสืบที่ทำงานของลูกหนี้ ว่าลูกหนี้ไปทำงานอยู่ที่ไหนบริษัทใดภายใน 10ปี และถ้าคุณโดนบังคับคดีอายัดเงินเดือนของคุณภายใน 10 ปีที่ว่านี้แล้ว แต่ว่ายังใช้หนี้ไม่หมด เจ้าหนี้ก็มีสิทธิบังคับคดีให้คุณต้องถูกอายัดเงินเดือนต่อไปเรื่อยๆจนหมดหนี้ได้ แม้จะต้องใช้หนี้ไปจนเลยอายุความที่กำหนด 10ปีแล้วก็ตาม เนื่องจากในทางกฎหมายถือว่า เจ้าหนี้ได้ทำเรื่องบังคับกับคุณภายในระยะเวลาของอายุความแล้ว…ดังนั้น คุณก็ต้องใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้จนกว่าจะหมด




ถาม : แพ้คดีมา 10 ปีแล้ว ทำไมเจ้าหนี้ยังตามยึดทรัพย์ได้อีกล่ะคะ?

ตอบ : เรื่องการบังคับคดี โดยทั่วไปเข้าใจกันว่า ถ้าหากครบกำหนดเวลา 10 ปีแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะหมดสิทธิในการบังคับคดี แต่ความในเป็นจริงแล้ว...หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

เพราะถ้าหากเจ้าหนี้ได้ทำการยื่นเรื่อง“บังคับคดี”กับทรัพย์ของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ได้สืบเจอภายใน 10ปี โดยแจ้งให้กับหน่วยงานราชการ ที่มีชื่อเรียกว่า“กรมบังคับคดี”ภายในระรยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาแล้ว...ก็ถือว่าเจ้าหนี้ได้ปฎิบัติหน้าที่ของตัวเอง ในการยื่นเรื่องเพื่อขอ“บังคับคดี”กับลูกหนี้เสร็จสิ้นแล้ว

ดังนั้น ต่อมา...หากมีการยืดเยื้อของคดีในการยึดทรัพย์ตามที่ได้แจ้งไว้แล้วนี้ นานเกินกว่า10ปี เจ้าหนี้ก็ยังสามารถยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ที่สืบเจอภายใน 10ปีนี้ ได้ตลอดไปจากทรัพย์ที่สืบเจอนั้นๆ โดยไม่มีระยะเวลากำหนดอีกแล้ว จนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น

เจ้าหนี้มีสิทธิ์ยื่นเรื่อง“บังคับคดี”ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ ที่เจ้าหนี้สืบทรัพย์เจอภายใน10ปี...แต่ถ้าหากเจ้าหนี้ดันไปสืบเจอ"ทรัพย์ใหม่"ที่ไม่เคยสืบเจอมาก่อน แต่ดันมาสืบเจอภายหลังจากเลย 10ปีไปแล้ว เจ้าหนี้จะไม่สามารถยื่นเรื่องให้ยึด"ทรัพย์ใหม่"ได้อีก เนื่องจากหมดระยะเวลาในการยึดทรัพย์ไปแล้ว



คำพิพากษาศาลฎีกา 4816/2528

การร้องขอให้บังคับตามคำพิพากษา ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ขั้นแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ขั้นตอนต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว และจากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนแล้วภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา ส่วนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปยึดทรัพย์เมื่อใดนั้น เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปยึดทรัพย์จำเลยเกิน 10 ปี ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปีแล้ว ดังนั้นเมื่อแพ้คดีมา 10 ปี แล้วเจ้าหนี้ยังยึดทรัพย์ได้ด้วยเหตุดังกล่าว

กรรมการชมรมไม่ใช้เทวดา
ชี้ได้แต่เส้นทาง สมาชิกต้องกระทำเอง
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: Skynine

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

12 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมา #1297 โดย 0834368962
ข้อมูลจากในกระทู้นี้ เป็นข้อเท็จจริงที่ใช้ในการบังคับคดี ณ.ปัจจุบันที่ Upadte ที่สุดแล้วครับ

เพราะมี "ตัวอย่าง" คำพิพากษา ของศาลฎีกาออกมาเป็นแนวทางไว้ให้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกา 4816/2528

กำหนดเวลาในการขอออกหมายบังคับคดี ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรง คงมีแต่กำหนดไว้โดยทั่วไปว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง (ฎีกาที่4816/2528, ที่ 3607/2529, ที่ 6382/2531) แต่ถ้าดำเนินการบังคับคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็หมดสิทธิบังคับคดี (ฎีกาที่ 1615/2534)
เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดี ศาลจะออกหมายบังคับคดีได้ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงครบถ้วนตามที่ระบุไว้ตามกฎหมายดังต่อไปนี้
1) ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบคำบังคับแล้ว คือ ได้ส่งคำบังคับให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแล้ว
2) ล่วงพ้นเวลาปฏิบัติ คือ ระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว
3) คำขอถูกต้อง คือ คำขอนั้นมีข้อความระบุไว้ครบถ้วนตามกฎหมาย
การส่งหมายบังคับคดี เมื่อคำขอครบถ้วนแล้ว ศาลจะออกหมายบังคับคดีทันที และศาลมีหน้าที่แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เว้นแต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะได้นำหมายไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเอง ในทางปฏิบัติเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะนำหมายไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ส่วนลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ถ้าศาลมิได้มีคำสั่งเช่นนั้น ก็ไม่ต้องส่ง แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปจัดการบังคับคดีตามหมายนั้น เช่น ยึดทรัพย์ ต้องแสดงหมายนั้นต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินที่ยึดซึ่งพบในขณะทำการยึด (ฎีกาที่ 2226/2523)
กำหนดระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีอำนาจและหน้าที่ในการบังคับคดีจะเริ่มเมื่อใด ต้องแยกเป็น 2 กรณี คือ
1. กรณีมีการส่งหมายบังคับคดี ให้นับแต่วันที่ส่งหมายบังคับคดีให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา
2. กรณีไม่มีการส่งหมายบังคับคดี ก็ให้นับแต่วันออกหมายบังคับคดีเป็นต้นไป เช่น ออกหมายบังคับคดีแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงินมาชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็รับเงินนั้นได้
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) มีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำมาวาง
(2) มีอำนาจยึดหรืออายัด และยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(3) มีอำนาจที่จะเอาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดออกขายทอดตลาด
(4) มีอำนาจที่จะจำหน่ายทรัพย์สินหรือรายได้ต่าง ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(5) มีอำนาจที่จะดำเนินการบังคับทั่ว ๆ ไปตามที่ศาลกำหนดไว้ในหมายบังคับคดี
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ออกใบรับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระหนี้หรือนำทรัพย์สินมาวาง
(2) รักษาไว้โดยปลอดภัยซึ่งเงินหรือทรัพย์สิน หรือเอกสารที่ยึดมาหรือที่ได้ชำระ หรือส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี
(3) ทำบันทึกวิธีการบังคับคดีที่ได้ทำไว้ และรักษาไว้ให้ปลอดภัย
(4) รายงานต่อศาลให้ทราบถึงการบังคับคดีที่ได้ทำไปเป็นระยะ ๆ
ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระหนี้หรือนำทรัพย์สินมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดีรับไว้แล้ว มีผลเท่ากับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทันที
การดำเนินการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีข้อพิจารณา คือ
ก.) วันและเวลาในการบังคับคดี
“เวลา” ต้องดำเนินการบังคับคดี “ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก” คือ ในเวลากลางวัน ซึ่งกำหนดเวลาในการบังคับคดีได้บัญญัติแบบเดียวกับการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใด (มาตรา 74 (1)) และการส่งหมายเรียกพยาน (มาตรา 81 (2)) เหตุผลที่กฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาตามทางราชการ เพราะวันเปลี่ยนไปตามฤดูกาล บางทีค่ำช้า บางทีค่ำเร็ว จะเอาชั่วโมงใดเป็นที่แน่นอนว่า “พลบค่ำ” ไม่ได้ และหากเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีในเวลากลางวันยังไม่เสร็จ ก็จะดำเนินการต่อไปในเวลากลางคืนหาได้ไม่
ส่วน “วัน” ต้องดำเนินการ “ในวันทำการปกติ” คือ ในวันปฏิบัติราชการไม่ใช่วันหยุดราชการ ข้อยกเว้น กรณีมีเหตุฉุกเฉิน เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการบังคับคดีในเวลาและวันอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วก็ได้ คือ จะดำเนินการบังคับคดีในเวลากลางคืน หรือในวันหยุดราชการ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เช่น กรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษากำลังขนย้ายทรัพย์สิน หรือไม่สามารถไปทำการในวันทำการตามปกติ
ข.) วิธีดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจเท่าที่จำเป็นดังนี้
(1) มีอำนาจค้น สถานที่ใด ๆ อันเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาปกครองอยู่ เช่น บ้านที่อยู่ คลังสินค้า โรงงาน และร้านค้าขาย
(2) มีอำนาจยึดและตรวจ สมุด บัญชี หรือแผ่นกระดาษ ซึ่งอยู่ในสถานที่ดังกล่าว
(3) มีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามสมควร เพื่อเปิดสถานที่ บ้านที่อยู่หรือโรงเรียนดังกล่าว รวมทั้งตู้นิรภัย ตู้ หรือที่เก็บของอื่น ๆ
ในการดำเนินการบังคับคดี ถ้ามีผู้ขัดขวาง เพื่อให้การดำเนินการบังคับคดีเป็นไปโดยเรียบร้อย เจ้าพนักงานบังคับคดีควรชี้แจงว่ากล่าวแต่โดยดีแก่ผู้ขัดขวางก่อน ถ้าผู้นั้นยังขัดขวางอยู่อีก เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้
ความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานบังคับคดี กฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมไม่ได้ ถ้าได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดออกขายหรือจำหน่ายอีก (มาตรา 284) หากมีผู้ยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ยึดนั้น โดยอ้างว่าไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องงดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้น (คำสั่งคำร้องที่ 330/2505 ประชุมใหญ่)




ขั้นตอนการบังคับคดีตั้งแต่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วมีดังนี้
1) การบังคับคดี เป็นกระบวนการหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจะมีการบังคับคดี โดยอาศัยเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ศาลตั้งให้นั้นจะต้องมีการออกหมายบังคับคดี ซึ่งเรียกว่า หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเกิดอำนาจขึ้นในการที่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยได้
การบังคับคดีนั้นเป็นได้ทั้งเรื่องของหนี้และไม่ใช่ของหนี้ จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามสภาพ ซึ่งเปิดช่องให้บังคับ เปิดช่องให้บังคับอย่างไรก็ต้องบังคับอย่างนั้น เช่น กรณีหนี้เงิน ก็บังคับเอากับทรัพย์สินของจำเลย เพื่อนำมาขายทอดตลาด โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินมาชำระหนี้เงินนั้น เป็นการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

2) ผู้มีอำนาจบังคับคดีได้คือ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน เจ้าหนี้จึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น”
จะเห็นว่า มาตรา 271 ที่ว่าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายที่ชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี กฎหมายไม่ได้ระบุเจาะจงลงไปว่าเป็นโจทก์หรือจำเลย ซึ่งเป็นคู่ความเดิมเท่านั้น ในการที่จะวินิจฉัยว่าใครเป็นบุคคลผู้ชนะคดีหรือที่แพ้คดีต้องพิจารณาดูคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นๆ เป็นสำคัญว่าใครจะเป็นผู้มีสิทธิบังคับคดีหรือเป็นผู้ต้องถูกบังคับคดี เมื่อไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นๆ

3) สิทธิในการบังคับคดีหรือถูกบังคับคดีเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ถ้าการบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน สิทธิในการบังคับคดีหรือหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลของคู่ความ ย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทของคู่ความฝ่ายนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 ด้วย
การใช้สิทธิในการบังคับคดี ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง ดังนั้นเจ้าหนี้ของคู่ความที่ชนะคดีจะใช้สิทธิของคู่ความ ฝ่ายที่ชนะคดีบังคับแก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี โดยอาศัย ป.พ.พ. มาตรา 233 ไม่ได้ เพราะการใช้สิทธิบังคับคดีไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง จึงไม่อาจที่จะใช้สิทธิบังคับคดีแก่ผู้แพ้คดี ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ชนะคดีได้


4) ถ้าบุคคลซึ่งแพ้คดีหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล บุคคลผู้ชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามมาตรา 271 ระยะเวลาบังคับคดีภายใน 10 ปี ดังกล่าวมิใช่อายุความ แต่เป็นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ชนะคดี ต้องรีบบังคับคดีของตนภายในระยะเวลาที่กฏหมายกำหนดไว้ มิฉะนั้นก็หมดสิทธิในการจะบังคับคดีอีกต่อไปในภายภาคหน้า ระยะเวลาที่กำหนดนี้จึงไม่ใช่อายุความ ซึ่งกำหนดไว้สำหรับการใช้สิทธิเรียกร้อง แต่เป็นเรื่องของระยะเวลาในการขอบังคับคดี ดังนั้น เรื่องระยะเวลาบังคับคดีนี้จึงไม่ใช่อายุความ

5) การร้องขอให้บังคับคดีตามมาตรา 271 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาและในการร้องขอให้บังคับคดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีก่อน จากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อให้การบังคับคดีดำเนินการต่อไป

กรรมการชมรมไม่ใช้เทวดา
ชี้ได้แต่เส้นทาง สมาชิกต้องกระทำเอง
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: Skynine

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

ผู้ดูแล: Badmankonsiam
เวลาที่ใช้ในการสร้างหน้าเว็บ: 0.475 วินาที
ขับเคลื่อนโดย ระบบฟอรัม Kunena